เราทุกคนต่างเติบโตขึ้นมาตามอายุและวัยที่มากขึ้น จากเด็กน้อยที่เคยอยู่ในกรอบของครอบครัว ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน มาถึงวันที่เติบโตเข้าสู่วัยรุ่น โหยหาอิสรภาพ อยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ ต้องการทำตามความต้องการของตนเองมากขึ้น บ่อยครั้งเราจึงมักใช้คำว่า ‘โตแล้ว’ เพื่อแสดงจุดยืนในสิ่งที่จะทำ
หากมองให้ลึกลงไป คำว่า ‘โตแล้ว’ นั้นแปลความหมายได้สองบริบท หากคำนี้ถูกเอ่ยโดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง อาจหมายความว่า เราโตแล้วในสายตาของพวกเขา ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง โดยพวกเขามีหน้าที่แค่อยู่ข้าง ๆ ช่วยให้คำแนะนำเท่านั้น แต่อำนาจในการตัดสินใจเป็นของเรา พวกเขาเพียงหวังจะเห็นการปฏิบัติตัวของคนที่พวกเขาบ่มเพาะ อบรมสั่งสอนมา อย่างคนที่โตแล้ว
แต่ในอีกบริบทหนึ่ง เมื่อคำว่า ‘โตแล้ว’ ถูกเอ่ยโดยตัวของเราเอง สาเหตุเหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากการโต้เถียงในสถานการณ์ที่ขัดแย้งหรือเพื่อแสดงความต้องการบนจุดยืนของตัวเอง เพราะเราต้องการอำนาจในการตัดสินใจ เลือกทางเดินชีวิตให้กับตัวเอง หรือเพราะเรามั่นใจว่าเรามีวุฒิภาวะมากพอในการดูแลตัวเอง เช่น พ่อแม่อาจบอกว่า อย่ากลับบ้านดึก เราอาจจะตอบไปว่า ไม่ต้องห่วง โตแล้วดูแลตัวเองได้ เพราะเราอยากให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าเราโตมากพอที่จะตัดสินใจ โดยไม่มีทางที่จะผิดพลาด หรือหากต้องผิดพลาดเราก็คงมีวิธีแก้ปัญหาอย่างคนที่โตแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อเชื่อว่าตัวเองโตแล้วจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด จงมั่นใจที่จะเอ่ยมันออกไป สิ่งที่ตามมาต่อจากนั้นคือความรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเอง เพียงปฏิบัติตัวอย่างคนที่โตแล้วที่เราเชื่อมั่น สิ่งที่เราแสดงออกจะเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าคำพูดของเรานั้นน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะโตแล้วไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ แต่โตแล้วจึงต้องรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ…